ทีเอ็มบีธนชาต ตอกย้ำความแข็งแกร่งทางการเงิน รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2566 ที่ 4,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังคงบริหารจัดการได้ตามแผน โดยหนี้เสียทรงตัวในระดับต่ำที่ 2.69% ขณะที่อัตราส่วนสำรองฯ หรือกันชนรองรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 140% พร้อมเดินหน้าตามแผนธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางภายใต้ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2566 โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อน และ 34% จากไตรมาส 1 ปี 2565 ด้านอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือหนี้เสียทรงตัวในระดับต่ำที่ 2.69% ขณะที่อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 140% สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมายในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรายได้ การบริหารค่าใช้จ่าย และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2566 ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย และสะท้อนถึงผลลัพธ์จากแนวทางการดำเนินธุรกิจของทีเอ็มบีธนชาต ที่เน้นย้ำการเติบโตธุรกิจอย่างมีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการนำเอาจุดแข็งจากการรวมกิจการมาเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและความสามารถในการสร้างกำไร ที่สำคัญอีกประการคือการดูแลสถานะทางการเงินให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของธนาคารให้พร้อมรับมือกับทุกสภาพเศรษฐกิจ
โดยในการดูแลสถานะทางการเงินนั้น ธนาคารดำเนินการผ่านการบริหารจัดการทุกองค์ประกอบของงบดุลทั้งด้านสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนทุนให้มีคุณภาพ เช่น ในด้านสินเชื่อ ธนาคารใช้กลยุทธ์การเติบโตอย่างรอบคอบ เน้นที่คุณภาพ เพราะไม่ต้องการสร้างความเสี่ยงต่องบดุลภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ด้านพอร์ตการลงทุน ธนาคารมีนโยบายการลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำและสภาพคล่องสูง เพื่อจุดประสงค์ในการบริหารสภาพคล่องเป็นหลัก ไม่มีนโยบายแสวงหาผลกำไรจากการลงทุนในตราสารหรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเสี่ยงสูงแต่อย่างใด ในด้านเงินฝากก็เน้นขยายฐานเงินฝากกลุ่มลูกค้ารายย่อยในประเทศเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของผู้ฝากรายใหญ่ และในการบริหารส่วนทุน ก็ต้องมีประสิทธิภาพและเพียงพอพร้อมรองรับการเติบโตทางธุรกิจ
ผลลัพธ์จากการดำเนินการทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ทีเอ็มบีธนชาตมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการที่ธนาคารสามารถรักษาแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผลกำไรมาตลอด 6 ไตรมาส ขณะที่สถานะทางการเงินก็แข็งแกร่งขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมที่เพิ่มขึ้นจากระดับก่อนรวมกิจการที่ประมาณ 18% ขึ้นมาสู่ระดับ 20% ในปัจจุบัน อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพซึ่งสะท้อนถึงกันชนป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจาก 120% มาอยู่ที่ 140% หรืออัตราส่วน LCR (Liquidity Coverage Ratio) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดด้านสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 180% จากเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 100% ทำให้มั่นใจได้ว่า ทีเอ็มบีธนชาตมีสถานะทางการเงินหลังการรวมกิจการที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น มีการดำรงสภาพคล่องและเงินกองทุนที่เพียงพอ และมีความพร้อมที่จะเติบโตตามแผนธุรกิจที่วางไว้
โดยในปี 2566 นี้ เราตั้งเป้าที่จะเติบโตสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ด้วยการต่อยอดจากความเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อ ไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถแลกเงิน (ttb cash your car) สินเชื่อบ้านแลกเงิน (ttb cash your home) สินเชื่อ ttb payday loan และกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถ โดยจะเน้นฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจากการรวมกิจการเป็นหลัก ซึ่งธนาคารรู้จักและเข้าใจความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างดี เป็นผลดีต่อการบริหารความเสี่ยงและการนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้ตรงความต้องการ นอกจากนั้นแล้วยังเตรียมนำเสนอโซลูชันทางการเงินสำหรับกลุ่มพนักงานเงินเดือน คนมีบ้าน คนมีรถ ด้วยแนวคิด Ecosystem Play ซึ่งจะทยอยเปิดตัวให้บริการในไตรมาสถัด ๆ ไป
สำหรับรายละเอียดผลการดำเนินงานหลักในไตรมาส 1 ปี 2566 มีดังนี้
ในไตรมาส 1/66 ธนาคารสามารถเติบโตสินเชื่อใหม่ในกลุ่มเป้าหมายได้ตามแผน นำโดยสินเชื่อรถแลกเงินและสินเชื่อบ้านแลกเงิน แต่เนื่องจากมีการชำระคืนหนี้จากกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ เมื่อสุทธิแล้วจึงทำให้สินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาสอยู่ที่ 1,358 พันล้านบาท ลดลง 1.3% จากสิ้นปีที่แล้ว ด้านเงินฝากอยู่ที่ 1,402 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2% หนุนโดยเงินฝากประจำ ซึ่งเป็นไปตามแผนการบริหารต้นทุนเงินฝากภายใต้ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อคงความสามารถในการสร้างผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อ หลังจากที่ธปท.ประกาศปรับขึ้นอัตราเงินนำส่ง FIDF สู่ระดับก่อนโควิด-19 ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนเงินฝาก ธนาคารได้ใช้กลยุทธ์การรีไซเคิลเงินทุน หรือนำสภาพคล่องที่ได้รับจากการชำระคืนหนี้ไปหมุนเวียนใช้ปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าภายใต้กรอบความเสี่ยงที่เหมาะสม ประกอบกับหลายไตรมาสก่อนหน้านี้ธนาคารได้ทยอยขยายฐานเงินฝากไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น จึงทำให้ยังสามารถขยายสินเชื่อใหม่ได้โดยที่ไม่ต้องเร่งขยายฐานเงินฝาก สะท้อนได้จากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่อยู่ที่ 97% ณ สิ้นไตรมาส 1/66
จากกลยุทธ์ด้านสินเชื่อและเงินฝากดังกล่าว รวมทั้งการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินและพอร์ตการลงทุนในเชิงรุกเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น รายได้ดอกเบี้ยสุทธิจึงฟื้นตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนแม้ว่ายอดสินเชื่อสุทธิจะลดลงก็ตาม ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน และเป็นปัจจัยหนุนให้รายได้จากการดำเนินงานรวมเพิ่มขึ้น 6.9% จากไตรมาส 1/65 มาอยู่ที่ 16,870 ล้านบาท
ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การเพิ่มขึ้นดังกล่าวสอดคล้องกับกิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นและแผนการลงทุนของธนาคาร โดยธนาคารยังคงสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับด้านรายได้ได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ซึ่งอยู่ที่ 43% เทียบกับ 44% ในไตรมาส 1/65 ส่งให้ผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ อยู่ที่ 9,561 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในไตรมาส 1/66 ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ อยู่ที่ 4,276 ล้านบาท ลดลง 11.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อหักค่าใช้จ่ายสำรองฯ และภาษี จึงทำให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.4% จากปีที่แล้ว
ทั้งนี้ การตั้งสำรองฯ ที่ลดลงเป็นผลต่อเนื่องมาจากการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ได้ตามแผน โดยอัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมลดลงมาอยู่ที่ 2.69% เทียบกับ 2.73% จากสิ้นปีก่อนหน้า ด้านกันชนป้องกันความเสี่ยงยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนได้จากอัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นจาก 132% ในไตรมาส 1/65 มาอยู่ที่ 138% ณ สิ้นปีที่แล้ว และอยู่ที่ 140% ณ สิ้นไตรมาส 1/66
ท้ายสุดด้านความเพียงพอของเงินกองทุน อัตราส่วน CAR และ Tier 1 (เบื้องต้น) ณ สิ้นไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 19.9% และ 16.2% สูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ
นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกเหนือจากการเติบโตธุรกิจ แน่นอนว่าธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าภายใต้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่เข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น โดยธนาคารมีแนวทางในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอย่างเหมาะสมเพื่อส่งเสริมการออม และปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยให้ลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจสามารถปรับตัว พร้อมกับบริหารจัดการสภาพคล่องได้ในระยะยาว ตอกย้ำเป้าหมายของธนาคารในการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย”