ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เดินหน้าสานต่อโครงการไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี กิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืนจากมูลนิธิทีทีบี โดยในปี 2565 ยังมุ่งจุดประกายเยาวชนและชุมชนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ปรัชญา Make REAL Change ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1. จุดประกายเยาวชน 2. จุดประกายชุมชน และ 3. จุดประกายความเป็นไทย พร้อมปลุกพลังอาสาสมัครทีทีบี ลงมือเปลี่ยนชุมชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เปิดเผยว่า ทีเอ็มบีธนชาต มุ่งเดินหน้าสานต่อกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ผ่านโครงการไฟ-ฟ้า โดยทีทีบี โครงการ CSR หลักของทีทีบี เพื่อจุดประกายเยาวชน ชุมชน และความเป็นไทย สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนทั้งในเชิงธุรกิจ ชุมชนและสังคมรอบข้าง ตอกย้ำปรัชญา Make REAL Change เพื่อเสริมสร้างสิ่งดี ๆ คืนสู่สังคมไทย
ทั้งนี้ กิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืนจากโครงการไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี ปี 2565 จะดำเนินการผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ดังนี้
- จุดประกายเยาวชน ผ่านศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า เพื่อเด็ก ๆ ในชุมชนเรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งดำเนินโครงการต่อเนื่องยาวนานและก้าวสู่ปีที่ 13 ปัจจุบันมีเด็กร่วมโครงการแล้วกว่า 10,000 คน จากศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า 5 แห่ง ได้แก่ ประชาอุทิศ, ถ.จันทน์, บางกอกน้อย, สมุทรปราการ และล่าสุด นนทบุรี โดยมีการเปิดคลาสเรียน รวมทั้งสิ้นกว่า 80 คลาส ทั้งการเรียนในรูปแบบออนไลน์และไฮบริด โดยเน้นการสอนทักษะ Art and Life Skills ผ่านแนวคิดเด็กธรรมดาคือสิ่งที่สวยงาม โดยไม่ได้มุ่งเป้าที่การแข่งขันเพื่อวัดผล แต่ให้ความสำคัญกับการค้นหาตนเองในสิ่งที่ชอบอย่างมีความสุข ซึ่งแต่ละคลาสเรียนจะเน้นทักษะที่เด็กสนใจและเหมาะสมกับบริบทสังคมสมัยใหม่และพื้นที่ เช่น คลาสทำอาหาร, คลาสออกแบบ, คลาสกีฬา, คลาสศิลปะ และคลาสสื่อสร้างสรรค์ออนไลน์ เป็นต้น สำหรับปีนี้มีคลาสพิเศษ คือ “FUN for FIN เด็กไฟ-ฟ้า ออมได้ ใช้เป็น” เพื่อสร้างพื้นฐานความรู้ทางการเงินให้กับเด็ก ๆ ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับเด็กตั้งแต่ระดับมัธยม ผ่านรูปแบบการเรียนแบบไฮบริดที่เน้นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม (Activity Base)
- จุดประกายชุมชน ปลุกพลังอาสาสมัครทีทีบี (ttb volunteer) ทั่วประเทศ ร่วมกันลงมือเปลี่ยนชุมชนให้มีชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยนำวิถีการทำงานแบบทีทีบีมาใช้ในการทำงานเพื่อสังคม มุ่งเน้นการใส่ใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและกล้าที่จะทำในสิ่งที่แตกต่าง เพื่อให้สังคมดีขึ้น โดยมีเป้าหมายในการดำเนินงานสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) โดยที่ผ่านมาอาสาสมัครทีทีบีได้จุดประกายช่วยเหลือชุมชนทั่วประเทศแก้ปัญหาตามความต้องการที่แท้จริงของชุมชน อาทิ โครงการไข่เค็มชายทุ่ง บ้านสำพันตา จ.ปราจีนบุรี ที่อาสาสมัครทีทีบีเข้าไปช่วยเปลี่ยนให้มีการทำงานอย่างเป็นระบบ แนะนำช่องทางการขายใหม่ และออกแบบผลิตภัณฑ์ และ โครงการ SME สมานฉันท์ เปลี่ยนกลุ่มเครือข่ายโรงงานสมานฉันท์ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อรับงานเย็บผ้าโดยตรงของกลุ่มคนงานที่ถูกเลิกจ้าง ให้มีความรู้ในการบันทึกรายได้ รายจ่าย และความรู้การบริหารเงินทุนหมุนเวียน ช่วยให้วางแผนการเงินได้ดีขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ กิจกรรมจุดประกายชุมชนในปี 2565 ได้ปรับเพิ่มรูปแบบ โดยเปิดโอกาสให้พนักงานของธนาคารเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ได้แก่ อาสา...ช่วยชุมชน ให้อาสาสมัครทีทีบีรวมกลุ่มกันทำงานร่วมกับชุมชน ใช้ทักษะแก้ปัญหาชุมชนภายในเวลา 3 เดือน ส่วนกิจกรรมใหม่คือ อาสา...ช่วยเด็ก โดยอาสาสมัครทีทีบีสามารถทำกิจกรรมร่วมกับเยาวชน ณ ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า หรือผ่านออนไลน์ เพื่อจัดกิจกรรมการสอนและแบ่งปันความรู้ที่ถนัดให้กับเด็ก ๆ และอาสา...ช่วยกันทำ อาสาสมัครทีทีบีสามารถใช้ฝีมือในการสร้างชิ้นงานเพื่อแก้ปัญหาให้ชุมชน ทำง่าย ใช้เวลาน้อย อยู่ที่ไหนก็ทำได้ เช่น สมุดทำมือ, ปลอกคอเพื่อเพื่อนสี่ขา, บอลบีบเพื่อสุขภาพ และถุงใส่ยารักษ์โลก เพื่อนำไปมอบให้แก่มูลนิธิ โรงพยาบาล โรงเรียน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความต้องการทั่วประเทศ โดยในปีนี้ตั้งเป้าการสร้างชิ้นงานเพื่อชุมชนรวมกว่า 20,000 ชิ้น
ธนาคารต้องการปลูกฝังการเป็น ‘ผู้ให้’ ให้กับพนักงานด้วยการเสียสละเวลาส่วนตัวมาสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคมตามกำลังความสามารถและความถนัดของตน เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดของพนักงานแต่ละคน แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทีมอาสาสมัครทีทีบีก็ยังคงทำกิจกรรมช่วยชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้มีการปรับเพิ่มกิจกรรมให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะมีอาสาสมัครทีทีบีเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มเป็น 3,000 คน กระจายไปทั่วประเทศ
- จุดประกายความเป็นไทย กิจกรรมเพื่อสังคมที่มุ่งเน้นจุดประกายต่อยอดการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย สานต่อโครงการเท่อย่างไทย ที่มีมากว่า 50 ปี โดยจัดการแข่งขันออนไลน์ใน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การประกวดมารยาทไทย การอ่านฟังเสียง และการวาดภาพดิจิทัล รวมไปถึงการบูรณะปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ครุฑ ซึ่งถือเป็นพิพิธภัณฑ์ครุฑแห่งแรกและแห่งเดียวในอาเซียน ที่รวบรวมและจัดแสดงองค์ครุฑพระราชทานกว่า 150 องค์ โดยจะพร้อมเปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชมในเดือนมิถุนายน 2565 นี้ รวมถึงกฐินพระราชทานทีเอ็มบีธนชาตปี 2565 ครั้งที่ 16 ณ วัดมหาวนาราม พระอารามหลวง จ.อุบลราชธานี เพื่อทำนุบำรุงพระอารามหลวง พร้อมบริจาคให้แก่โรงพยาบาล และโรงเรียนในพื้นที่ ตลอดจนมูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศลที่อยู่ในแพลตฟอร์มปันบุญกว่า 200 องค์กร ด้วยความตั้งใจที่จะร่วมส่งต่อพลังใจให้ชุมชน สานต่อทุกแรงใจร้อยปันบุญ
“กิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืนของธนาคารในปี 2565 จะมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น จากการรวมพลังของเยาวชน ชุมชน และอาสาสมัครทีทีบีทั่วประเทศเพื่อจุดประกายการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ตอกย้ำปรัชญา Make REAL Change ของทีทีบีที่ต้องการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในมิติของธุรกิจและในมิติของสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่รอบตัวเราให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” นายปิติ กล่าวสรุป
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืนโดยทีทีบี ได้ที่ www.ttbfoundation.org
ตัวอย่างกิจกรรมปี 2564 ที่ผ่านมา