external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

โครงการเท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี สะท้อนผลสำเร็จ “เท่ได้..ต้องไม่บูลลี่”

19 ก.พ. 2567

แม้สังคมไทยจะเริ่มตระหนักถึงปัญหาการบูลลี่ แต่ยังคงเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง โครงการไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี กิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน เดินหน้าส่งเสริมทักษะเยาวชนไทยในทุกมิติ ให้กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม รวมถึงเข้าใจและยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น โดยได้จัดกิจกรรมการประกวด “เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี” ในหัวข้อ “เท่ได้...ต้องไม่บูลลี่” ประจำปี 2566 และประกาศผลในรอบชิงชนะเลิศเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยนับว่าเป็นการเปิดเวทีสร้างโอกาสให้เยาวชนได้ร่วมกันทำงานเป็นทีม สร้างสรรค์โครงงานเพื่อร่วมรณรงค์ต่อต้านการบูลลี่ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมรางวัลทุนการศึกษา

ทั้งนี้ การประกวดมุ่งเน้นเพื่อให้ทีมที่เข้าประกวดนำโครงงานที่คิดไปปฏิบัติจริงในโรงเรียน และนำผลการทำโครงงานในระยะเวลา 3 เดือนกลับมานำเสนอต่อคณะกรรมการ โดยแบ่งการประกวดเป็นระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดีมีโรงเรียนส่งใบสมัครเข้าร่วมมากกว่า 460 ทีม รวมนักเรียนที่เข้าร่วมจำนวนกว่า 3,000 คน โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับมัธยมต้น ได้แก่ ทีม ก.ท.ก็เท่ได้ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ชื่อโครงงาน การบูลลี่ร้ายแรง...กว่าที่คิด และทีม Illumination of hart โรงเรียนสภาราชินี จ. ตรัง คว้ารางวัลชนะเลิศระดับมัธยมปลาย ด้วยโครงงานชื่อ วันสุดท้าย ก่อน Bye Bully

 

นางสาวมาริสา จงคงคาวุฒิ หัวหน้ากิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต

นางสาวมาริสา จงคงคาวุฒิ หัวหน้ากิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า โครงการเท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันยุคทันสมัยตลอดเวลา ซึ่งปัญหาการบูลลี่ที่กำลังเกิดกับวัยรุ่นถือเป็นหนึ่งปัญหาใหญ่ จึงนำประเด็นนี้มารณรงค์กับเด็ก ๆ ผ่านการจัดประกวดโครงงานในหัวข้อ “เท่ได้...ต้องไม่บูลลี่” เป็นปีแรก เพื่อที่จะช่วยกันกระตุ้นให้ลดการบูลลี่ในโรงเรียน ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมากจากหลายฝ่าย แม้จะเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะเด็ก ๆ เมื่อคิดโครงงานได้แล้วต้องนำไปปฏิบัติจริงด้วย โดยผลลัพธ์ที่ได้น่าพอใจมาก สะท้อนชัดว่าเด็กเข้าใจความหมาย รู้จักรับมือ และหาแนวทางสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เพื่อรณรงค์การลดบูลลี่เพื่อนในโรงเรียน

“เราอยากเห็นกิจกรรมดี ๆ ถูกจุดประกายในทุกโรงเรียน ซึ่งหนึ่งในความน่าสนใจของกิจกรรม คือ การนำไปปฎิบัติจริง ทำให้เด็กได้เห็นปัญหาอุปสรรคและผลตอบรับ และนำมาแชร์กันในวันตัดสินการประกวด เพื่อให้น้อง ๆ ได้รับประสบการณ์จริงและนำไปจุดประกายส่งต่อให้รุ่นน้องได้ โดยมองว่าปัญหาการบูลลี่ยังเป็นประเด็นสำคัญ หากเป็นไปได้เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี ก็อยากจะสานต่อในปีต่อ ๆ ไป เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น และเห็นพัฒนาการในการรณรงค์การหยุดการบูลลี่ในโรงเรียนมากขึ้น และท้ายที่สุดอยากให้การบูลลี่หมดไปจากสังคมไทย” นางสาวมาริสากล่าว

 

โครงการเท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี สะท้อนผลสำเร็จ “เท่ได้..ต้องไม่บูลลี่”

เสียงจากน้อง ๆ ทีม lllumination of hart โรงเรียนสภาราชินี จ. ตรัง รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมปลาย บอกว่า “รู้สึกภูมิใจและดีใจที่ผลงานได้รับรางวัลชนะเลิศ เพราะทุกคนตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ แม้จะมีความท้าทายในเรื่องการบริหารเวลา แต่จากการสนับสนุนและความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทำให้โครงการสำเร็จด้วยดี โดยมองว่าจุดเด่นที่ทำให้ทีมชนะคือการนำเสนออย่างจริงใจ และการคิดกิจกรรมให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมทั้งโรงเรียน ไม่ใช่แค่การรณรงค์ แต่ทำให้เรื่องการบูลลี่แทรกซึมเข้าไปในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำแล้วมีความสุข ซึ่งกิจกรรมที่ทำและโดดเด่นได้รับการตอบรับมากที่สุด คือ กิจกรรมการประกวด Miss Take ผู้ผิดพลาดที่สมบูรณ์แบบ สะท้อนเรื่องการผิดพลาดจากบรรทัดฐานของคนอื่นไม่ใช่ปัญหา อยากให้คนมองเห็นและยอมรับในความแตกต่างของตัวเองรวมถึงคนอื่น

“ตอนนี้น้อง ๆ เพื่อน ๆ ต่างเฝ้าที่จะเข้าร่วมกิจกรรมการประกวด Miss Take และกลายเป็นสัญลักษณ์ในโรงเรียนที่ทุกครั้งเมื่อนึกถึงการบูลลี่ก็จะนึกถึง Miss Take นอกจากนี้ เพลงที่พวกเราแต่งขึ้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับการบูลลี่ ทางโรงเรียนมีการเปิดให้นักเรียนฟังทุกเช้าจนติดหู รวมถึงกิจกรรมง่าย ๆ การให้เขียนความในใจบนโพสต์อิทก็มีกระแสตอบรับที่ดี มีการนำไปโพสต์บนสื่อโซเชียลจนกลายเป็นไวรัล เรียกได้ว่าประโยชน์ที่ได้จากโครงการเท่อย่างไทยมีมากมาย อันดับแรกคือได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องบูลลี่มากขึ้น รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นแกนนำต่อต้านเรื่องนี้ระดับประเทศ โดยพร้อมจะนำความสำเร็จครั้งนี้ไปต่อยอดเป็นกิจกรรมดี ๆ ขยายผลต่อไป”

 

นางสาววาซีตา เหมสลาหมาด และนางสาวนิสากร ตะหมัง คุณครูโรงเรียนสภาราชินี จ.ตรัง

ด้านนางสาววาซีตา เหมสลาหมาด และนางสาวนิสากร ตะหมัง คุณครูโรงเรียนสภาราชินี จ.ตรัง กล่าวว่า เข้าร่วมกิจกรรมเท่อย่างไทย เพราะอยากให้เด็ก ๆ ได้แสดงศักยภาพที่มี ซึ่งทุกคนมีความตั้งใจและมีความฝัน ในขณะที่ครูเห็นว่าการบลูลี่ในโรงเรียนเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข รู้สึกดีใจและประทับใจมากที่เราทำสำเร็จ โดยแนวคิดการสร้างโครงงานจะใช้นักเรียนในโรงเรียนเป็นตัวตั้ง ดูจากพฤติกรรมและปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นค่อยคิดกิจกรรมที่เข้าถึงเด็กได้ง่าย เช่น การสื่อสารผ่านเพลง การประกวด Miss Take ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก สร้างการรับรู้เรื่องบูลลี่ได้เป็นอย่างดี ทำให้เด็กลดการกลั่นแกล้งเพื่อนและมีสุขภาพจิตที่ดี รวมถึงมีความสุขกับการทำกิจกรรม

“โครงการนี้ได้มอบโอกาสให้นักเรียนได้นำความคิดมาสู่การทำจริง ไม่ใช่แค่การนำเสนอแล้วจบไป ส่วนในแง่ของคุณครูก็ได้ประโยชน์จากการที่มีความใกล้ชิดกับเด็กมากขึ้น เด็กกล้าเข้าหาครูมากขึ้น เด็กที่มีปัญหาก็มองว่าโรงเรียน คุณครู หรือเพื่อนสนิทเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทำให้ความสัมพันธ์ภายในโรงเรียนก็จะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น การเรียนที่ดีเด็กจะต้องมีความอบอุ่น พูดคุยปรึกษากันได้”

 

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ปิดท้ายที่ตัวแทนคณะกรรมการ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากผลงานที่เข้ารอบสุดท้าย 20 ทีมทั้งมัธยมต้นและมัธยมปลาย ถือว่าทำได้ดีเยี่ยมทุกทีม เกณฑ์การตัดสินหลัก ๆ คือ เป็นโครงการที่มีความคิดสร้างสรรค์สามารถนำไปต่อยอดทำได้จริง และเข้ากับบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน รวมถึงมีการนำเสนออย่างน่าสนใจ ทำให้เชื่อได้ว่าโครงการนั้นจะประสบความสำเร็จ มีประโยชน์ช่วยลดการบูลลี่ในสังคมได้จริง นอกจากนี้ คณะกรรมการยังตัดสินจากภาพรวมการทำงานของเด็ก ๆ สะท้อนให้เห็นว่าทุกคนสนใจเรื่องบูลลี่ และปัญหานี้กระทบกับพวกเขาอย่างจริงจัง ทำให้เด็กตั้งใจทำโครงการกันมาก อีกทั้งยังมีมุมมองที่แตกต่าง

“การเข้าร่วมเป็นกรรมการในโครงการนี้สนุกมากและเป็นการเปิดโลกทัศน์ ในมุมมองใหม่ของเด็ก ๆ เพราะเด็ก ๆ มีไอเดียที่ดี แตกต่างกันออกไป ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เรียนรู้จากเด็กและทีมงานไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี ที่ช่วยให้มีไอเดียนำไปพัฒนาต่อยอด รวมถึงมีมุมมองใหม่ ๆ ในการทำงานกับเด็ก เพื่อป้องกันปัญหาการบูลลี่ในประเทศไทย ซึ่งชื่นชมทีทีบีที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทำให้เรามีแรงและพลังใจในการทำงานต่อไป เพราะเรื่องสุขภาพจิตเกี่ยวข้องกับทุกคนไม่สามารถทำได้แค่หน่วยงานเดียว ผมว่านี่เป็นสัญญาณที่ส่งไปถึงสังคมไทยว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องของทุกคน และถ้าร่วมมือสุดท้ายสุขภาพจิตของทุกคนจะดีขึ้น” ดร.นพ.วรตม์ กล่าว

สามารถเข้าไปดูรายละเอียดโครงงาน “เท่ได้...ต้องไม่บูลลี่” ของโรงเรียนที่ได้รับรางวัล ได้ที่ www.เท่อย่างไทย.com พร้อมทั้งติดตามกิจกรรมดี ๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.ttbfoundation.org