external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

ทีเอ็มบีธนชาต ประกาศกลยุทธ์ปี 2565

1 มี.ค. 2565

ทีเอ็มบีธนชาต ประกาศกลยุทธ์ปี 2565 ภายใต้แนวคิด 'The Bank of Financial Well-being’
ธนาคารที่เป็นผู้นำด้านการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย

  • เดินหน้าส่งมอบโซลูชันทางการเงินที่มีประโยชน์และตอบโจทย์ลูกค้าในทุกช่วงชีวิต ตอกย้ำความสำเร็จและกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้าหลังการรวมกิจการ
  • เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันโดยการปรับโครงสร้างธุรกิจ และจับมือพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ทั้งกลุ่มประกันและการลงทุน พร้อมแตกบริษัทลูก ‘ttb consumer’
  • ตั้ง ‘ttb spark’ ทีมพัฒนาดิจิทัลโซลูชันโดยเฉพาะ ติดปีกการทำงานแบบ Agile พร้อมส่งมอบโซลูชันตอบโจทย์ลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจอย่างรวดเร็ว
  • พลิกโฉมแอป ‘ttb touch’ สู่ ผู้ช่วยทางการเงินส่วนตัว ช่วยให้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้นรอบด้าน

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เปิดกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ ปี 2565 ภายใต้แนวคิด ‘The Bank of Financial Well-being’ เดินหน้าสู่การเป็นธนาคารที่เป็นผู้นำด้านการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งในวันนี้ และอนาคต เร่งปรับโครงสร้างธุรกิจและจับมือพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เพื่อยกระดับการให้บริการลูกค้าได้หลากหลายครอบคลุมทุกความต้องการ พร้อมปักธงสร้าง Humanized Digital Banking หรือ ดิจิทัลแบงก์กิ้งที่เป็นมิตรและรู้ใจ เพื่อให้ดิจิทัลโซลูชันของธนาคารสามารถตอบโจทย์และมีประโยชน์ต่อลูกค้าอย่างแท้จริง

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เปิดเผยว่า การรวมกันอย่างเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ทีเอ็มบีธนชาตแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นและเพิ่มความสามารถในการช่วยเหลือลูกค้าได้รอบด้านขึ้น ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินหลากหลายรูปแบบ เพื่อเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนไทยมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า และในปี 2565 ธนาคารเดินหน้าต่อยอดกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้แนวคิด ‘The Bank of Financial Well-being’ โดยจะเสริมความสามารถในด้านต่าง ๆ ทั้งการปรับโครงสร้างธุรกิจ รวมถึงการเร่งเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ตอกย้ำการเป็นธนาคารที่จะสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีให้กับคนไทยทั้งในวันนี้ และอนาคต


“กระแสตอบรับจากลูกค้าและสังคมที่มีต่อธนาคารเริ่มเด่นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ เช่น บัญชี ttb all free ที่เพิ่มความคุ้มครองด้านการประกันชีวิตและอุบัติเหตุฟรี ช่วยให้ลูกค้ากว่า 1.9 ล้านราย มีความคุ้มครองพื้นฐานโดยไม่เสียเงินและส่งผลให้ธนาคารมียอดเงินฝากจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เติบโตสูงถึง 15% ผลิตภัณฑ์การลงทุน ttb smart port สามารถทำยอด IPO สูงสุดในประวัติศาสตร์ ด้วยยอดขายในสัปดาห์แรกกว่า 1 หมื่นล้านบาท และเติบโตเป็น 2 เท่า ภายในเวลา 6 เดือน รวมถึงบัตรเครดิต ttb reserve ที่มุ่งเน้นเรื่องความคุ้มค่าและการต่อยอดด้านการเงินและการลงทุนผ่านคะแนนสะสม มีผลตอบรับการถือบัตรจากลูกค้ากลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูงของธนาคารกว่า 60% ภายในเวลาเพียง 6 เดือน ตลอดจนการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมกว่า 750,000 ราย นอกจากนี้ ธนาคารได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยในการผลักดันโครงการพักทรัพย์พักหนี้ และการรวมหนี้ (Debt Consolidation) เพื่อให้กลุ่มธุรกิจ เช่น โรงแรม และภาคประชน สามารถผ่านวิกฤตไปได้ ซึ่งจากผลตอบรับดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันว่าเราได้เดินมาถูกทาง และเราจะยังคงเดินหน้านำเสนอโซลูชันทางการเงินที่มีประโยชน์และตอบโจทย์ลูกค้าในทุกช่วงชีวิตต่อไป”


นอกจากนี้ เมื่อปลายปี 2564 ทีเอ็มบีธนชาตได้เข้าซื้อหุ้น 10% ในบริษัท ธนชาตประกันภัย และบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต สร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านประกันและการลงทุน สร้างทางเลือกที่หลากหลายให้กับลูกค้า รวมไปถึงการที่ ttb broker ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารได้ขยายเครือข่ายพันธมิตรบริษัทประกันภัยรวมกว่า 20 บริษัท เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและคุ้มครองความเสี่ยงให้กับลูกค้าของธนาคารได้ครบทุกรูปแบบในราคาที่เหมาะสม


“ล่าสุด ธนาคารได้วางแผนจัดตั้งบริษัทใหม่ คือ ttb consumer เพื่อเพิ่มศักยภาพการนำเสนอบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่ครบวงจร และการเข้าถึงลูกค้าได้ในวงกว้าง พร้อมนำเสนอและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ ๆ เพื่อสร้างสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้าได้หลากหลายขึ้น โดยธนาคารได้วางเป้าหมายว่า ttb consumer จะสามารถก้าวขึ้นติดอันดับหนึ่งในสี่ของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล” นายปิติ กล่าว


พร้อมกันนี้ ธนาคารยังมีการปรับโครงสร้างภายใน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางด้านดิจิทัล ภายใต้แนวคิด Humanized Digital Banking หรือ ดิจิทัลแบงก์กิ้งที่เป็นมิตรและรู้ใจ เพื่อพัฒนาดิจิทัลโชลูชันที่ตอบโจทย์ ตรงใจ ใช้ง่าย และมีประโยชน์ต่อลูกค้า ดังนั้น ธนาคารจึงได้จัดตั้ง ‘ttb spark’ ทีมงานที่มีเป้าหมายในการสร้างสรรค์ไอเดียและพัฒนาดิจิทัลโซลูชันโดยเฉพาะ ซึ่งได้แยกโครงสร้างการทำงานออกมาอย่างชัดเจนเพื่อเพิ่มความคล่องตัว พร้อมส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น และยังสามารถต่อยอดไปได้ทั้งระบบ เช่น Ecosystem ของรถยนต์ ที่ประกอบด้วยผู้ใช้ ผู้ขาย และผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่จะได้รับโซลูชันทางการเงินที่ช่วยให้ชีวิตหรือธุรกิจดีขึ้นได้

นายรัชกร ชยาภิรัต หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ทีทีบี สปาร์ค กล่าวว่า “ttb spark จัดตั้งขึ้นมาเป็นหน่วยงานใหม่ที่ทำงานในรูปแบบ Agile เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาดิจิทัลโซลูชันให้กับทั้งลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ โดยมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ มี Digital DNA กล้าที่จะคิดนอกกรอบและไม่กลัวที่จะทดลองวิธีการใหม่ ๆ เพื่อสร้างดิจิทัลโซลูชันที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าอย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาเราได้พัฒนาโซลูชันที่สามารถแก้ปัญหาให้กับลูกค้าอย่างยั่งยืน และเป็นการแก้ปัญหาทั้ง Ecosystem อาทิ แพลตฟอร์มปันบุญ หรือ www.punboon.org ที่ช่วยให้มูลนิธิสามารถปรับ Business Model เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริจาคใหม่ ๆ ให้สามารถบริจาคได้สะดวกมากขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งยังช่วยลดกระบวนการทำงานและค่าใช้จ่ายของมูลนิธิลง โดยเพียงระยะปีกว่า ๆ มีมูลนิธิเข้าร่วมมากกว่า 180 แห่ง และมีเงินบริจาครวมกว่า 200 ล้านบาท รวมไปถึงโซลูชัน ttb business one ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้กับลูกค้าธุรกิจ ซึ่งมีจำนวนการทำรายการผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นกว่า 160% ตั้งแต่เปิดตัว ทั้งนี้ แนวคิดและวิธีการทำงานของเราได้ถูกพิสูจน์และมีการตอบรับที่ดีจากทั้งลูกค้า และรางวัลจากสถาบันต่าง ๆ มากมาย โดยในปีนี้เราพร้อมต่อยอดกระบวนการทำงานเพื่อส่งมอบ Humanized Digital Banking ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง”

นายนริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ทีทีบี สปาร์ค กล่าวว่า “ธนาคารต้องการทำให้ดิจิทัลแบงก์กิ้งเป็นได้มากกว่าแพลตฟอร์มที่ลูกค้าสามารถบริหารจัดการเงินทั่วไป โดยจะต้องสามารถแนะนำ ช่วยเหลือ และนำเสนอสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ได้ในระดับบุคคล เพื่อให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางกลยุทธ์ Humanized Digital Banking ของธนาคาร โดยในปีนี้เราเตรียมที่จะพลิกโฉมแอปพลิเคชัน ttb touch ให้กลายเป็นผู้ช่วยส่วนตัวและที่ปรึกษาที่รู้ใจ ช่วยให้ชีวิตทางการเงินของลูกค้าดีขึ้นได้อย่างรอบด้าน


โดย ttb touch มีไฮไลท์ 4 ฟีเจอร์เด่น คือ 1) ผู้ช่วยส่วนตัวที่ให้ข้อมูลและแจ้งเตือนเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับลูกค้าโดยเฉพาะ ด้วยการใช้ Data Analytics วิเคราะห์พฤติกรรม นำเสนอ และช่วยแจ้งเตือนในธุรกรรมสำคัญต่าง ๆ เช่น จ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ บิลโทรศัพท์มือถือ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องตั้งเตือน 2) ให้คำแนะนำและทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย อาทิ บริการด้านประกันที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลและแสดงผลภาพรวมความคุ้มครองทั้ง 3 ด้าน คือ ดูแลสุขภาพ ออมเพื่อเกษียณ และดูแลคนข้างหลัง โดยแสดงให้เห็นว่าประกันที่มีครอบคลุมและเพียงพอกับ Life Style และ Life Stage ของลูกค้าหรือไม่ ทำให้เรื่องประกันที่ซับซ้อนกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย 3) รวบรวมและจัดระเบียบเอกสารทางการเงินไว้บน ttb touch สะดวกในการค้นหา เรียกดูง่าย และขอเอกสารได้ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปสาขาอีกต่อไป เช่น เอกสารรับรองสถานะทางการเงิน และเอกสารข้อมูลเครดิตบูโร และ 4) รวบรวมสิทธิประโยชน์ไว้ในที่เดียว พร้อมเลือกสรรแคมเปญโปรโมชันที่เหมาะสำหรับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าไม่พลาดทุกความคุ้มค่าที่ธนาคารมอบให้ และในอนาคต ttb touch จะเป็นมากกว่าผู้ช่วยและที่ปรึกษาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการธนาคาร โดยจะเข้ามาช่วยจัดการด้านอื่น ๆ เช่น การบริหารจัดการเรื่องการจ่ายค่างวดสินเชื่อรถ ต่อประกัน รวมไปถึงการขายรถและการหาซื้อรถคันใหม่มาทดแทน เพื่อทำให้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้นรอบด้านได้อย่างแท้จริง


“ด้วยแนวคิด ‘The Bank of Financial Well-being’ รวมถึงกลยุทธ์การปรับโครงสร้างธุรกิจ เสริมแกร่งด้วยพันธมิตรทางการเงินที่หลากหลาย จะทำให้เราสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดและครบวงจรมากยิ่งขึ้น รวมถึงกลยุทธ์การมุ่งเน้นพัฒนา Humanized Digital Banking หรือ ดิจิทัลแบงก์กิ้งที่เป็นมิตรและรู้ใจ เพื่อให้ดิจิทัลโซลูชันของธนาคารสามารถตอบโจทย์และมีประโยชน์ต่อลูกค้าอย่างแท้จริง เราเชื่อมั่นว่าทีเอ็มบีธนชาตจะสามารถเดินหน้าสู่ธนาคารที่เป็นผู้นำด้านการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งในวันนี้ และอนาคต” นายปิติ กล่าวสรุป