เพิ่มขึ้น 27% จากปีที่แล้ว รวม 9 เดือน มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 13,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 31% จากปี 2565
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3 และรอบ 9 เดือน ปี 2566 โดยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2566 อยู่ที่ 4,735 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวม 9 เดือน ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 13,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% จากปีที่แล้ว ด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังคงบริหารจัดการได้ตามเป้าหมาย โดยมีอัตราส่วนหนี้เสียอยู่ในระดับต่ำที่ 2.67% ขณะที่อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพทรงตัวในระดับสูงที่ 144%
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ยังคงมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องจาก 2 ไตรมาสแรก รวม 9 เดือน ถือว่าธนาคารทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้ การบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงาน และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ส่งผลให้มีกำไรที่ดีและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น นำไปสู่การปรับเพิ่มการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลขึ้นเป็น 0.05 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวม 4.8 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 150% จากเงินปันผลระหว่างกาลในปีที่แล้ว โดยได้ขึ้นเครื่องหมาย XD ไปเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเผชิญกับความผันผวนจากทั้งในและนอกประเทศ ธนาคารยังคงใช้นโยบายการเติบโตสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวัง เนื่องจากมองว่าการเร่งเติบโตสินเชื่อท่ามกลางภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยนี้อาจก่อให้เกิดหนี้เสียและภาระการตั้งสำรองฯ ตามมาในภายหลัง ขณะเดียวกันธนาคารยังคงมีแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้อย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อดูแลลูกค้า ดังนั้นแล้ว การสร้างรายได้และผลตอบแทนจากดอกเบี้ยจึงเน้นไปที่เรื่องของการใช้เงินทุนและสภาพคล่องที่มีอยู่ให้ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ
ในการบริหารพอร์ตเพื่อหนุนรายได้และผลตอบแทนจากดอกเบี้ย ธนาคารใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า การรีไซเคิลเงินทุน หรือการหมุนเวียนนำเอาสภาพคล่องที่ได้รับกลับมาจากการชำระคืนหนี้ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ไปปล่อยกู้ให้กับสินเชื่อใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าภายใต้กรอบความเสี่ยงที่กำหนดไว้
ด้านการเติบโตสินเชื่อใหม่จะเน้นการต่อยอดจากฐานลูกค้าเดิมของธนาคาร ผ่านการ cross sell หรือนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มเติมจากผลิตภัณฑ์เดิมที่ลูกค้ามีอยู่ เช่น สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อรถแลกเงิน สินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิต ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อแล้ว ยังช่วยควบคุมคุณภาพสินเชื่อ เนื่องจากเรารู้จักและเข้าใจความเสี่ยงของลูกค้าเป็นอย่างดี
ในด้านการบริหารต้นทุนทางการเงินนั้น ธนาคารใช้กลยุทธ์การขยายฐานเงินฝากล่วงหน้าก่อนที่จะเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น โดยได้ทยอยขยายฐานเงินฝากประจำล่วงหน้ามาตั้งแต่ปีที่แล้วกว่า 40% ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาสามารถควบคุมต้นทุนเงินฝากได้ตามแผน ทั้งนี้ เงินฝากโดยรวมของธนาคารที่ปรับตัวลดลงเป็นผลจากการที่ผู้ฝากเงินนำเงินฝากออมทรัพย์ระยะสั้นย้ายไปลงทุนในเงินฝากระยะยาวรวมถึงตราสารหนี้ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น
สำหรับการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปี ธนาคารมองว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจจะยังคงมีความท้าทายอยู่ จึงยังยึดแนวทางการเติบโตสินเชื่ออย่างระมัดระวังเช่นเดิม ด้านการแข่งขันด้านเงินฝากคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งย่อมสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนเงินฝาก ดังนั้น การขยายฐานเงินฝากในระยะถัดไปก็จะต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างต้นทุนทางการเงินและผลตอบแทนด้านสินเชื่อ
รายละเอียดผลการดำเนินงานหลักในไตรมาส 3 และ 9 เดือนปี 2566 มีดังนี้
สินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 1,363 พันล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยสินเชื่อรายย่อยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 0.8% จากไตรมาสที่แล้ว นำโดย สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อรถแลกเงิน สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ของธนาคาร ด้านสินเชื่อลูกค้าธุรกิจลดลง 1.4% จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการชำระหนี้คืนของลูกค้าและกลยุทธ์การรีไซเคิลเงินทุนของธนาคาร
ด้านเงินฝากอยู่ที่ 1,329 พันล้านบาท ชะลอลง 4.7% จากไตรมาสที่แล้ว โดยเงินฝากเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ เงินฝากทีทีบี ออลล์ฟรี และเงินฝากประจำยังคงเติบโตได้ตามแผน ขณะที่การลดลงมาจากกลุ่มเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์การบริหารต้นทุนทางการเงินและสภาพคล่องของธนาคาร
เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนปี 2565 ผลการดำเนินงานยังคงให้ภาพการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หนุนโดยกลยุทธ์ด้านสินเชื่อและเงินฝาก รวมทั้งการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินและพอร์ตการลงทุนในเชิงรุกเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.1% จากไตรมาส 3/65 ช่วยชดเชยผลจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง 1.1% และทำให้รายได้จากการดำเนินงานรวมในไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.1% จากไตรมาส 3/65 รวม 9 เดือน รายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 52,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 7,777 ล้านบาท และรอบ 9 เดือน ปี 2566 อยู่ที่ 22,944 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% และ 5.8% ตามลำดับ เป็นผลจากกิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นและแผนการลงทุนทั้งด้านพนักงานและด้านดิจิทัล โดยธนาคารยังคงสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับด้านรายได้ได้เป็นอย่างดี สะท้อนได้จากอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่อยู่ที่ 43% เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่วางไว้ จากผลการดำเนินงานข้างต้น หนุนให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ (PPOP) อยู่ที่ 10,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.2% จากไตรมาส 3/65 และสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2566 อยู่ที่ 29,733 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/66 ธนาคารตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 4,354 ล้านบาท ค่อนข้างทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยที่ 0.2% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน รวม 9 เดือน ตั้งสำรองฯ ไปทั้งสิ้น 12,874 ล้านบาท ลดลง 5.0% จากปีก่อนหน้า เป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่บริหารจัดการได้ตามเป้าหมาย สะท้อนได้จากอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพที่อยู่ในระดับต่ำที่ 2.67% ด้านกันชนรองรับความเสี่ยง หรืออัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพทรงตัวในระดับสูงที่ 144%
ท้ายสุดด้านความเพียงพอของเงินกองทุน อัตราส่วน CAR และ Tier 1 (เบื้องต้น) ณ สิ้นไตรมาส 3/66 ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 20% และ 16% ซึ่งสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ