ทีเอ็มบีธนชาต แจ้งผลการซื้อคืนตราสารหนี้ AT1 จากตลาดต่างประเทศ โดยรวมเป็นไปตามแผน ช่วยหนุนการบริหารต้นทุนทางเงินและไม่กระทบต่อฐานะเงินกองทุนซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูง
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับผลการซื้อคืนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (ตราสารหนี้ AT1) ซึ่งธนาคารได้ออกและเสนอขายในตลาดต่างประเทศ โดยการทำคำเสนอซื้อคืนเป็นการทั่วไป หรือ Tender Offer เพื่อซื้อคืนตราสารหนี้บางส่วน (Partial Repurchase) ก่อนกำหนด
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า ธนาคารได้ดำเนินการทำ Tender Offer ในระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม ถึง 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา และได้รับซื้อคืนตราสารหนี้ AT1 เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 125,373,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่ากรอบที่วางไว้ในตอนต้นที่ 120,000,000 ดอลล่าร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนตอบรับคำเสนอซื้อดีกว่าที่คาดไว้ จึงมองเป็นโอกาสและตัดสินใจซื้อคืนตราสารหนี้ AT1 เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย เพราะพิจารณาแล้วว่ายังอยู่ในกรอบที่รับได้และเป็นประโยชน์ต่อการบริหารต้นทุนการกู้ยืมที่ไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระดับเงินกองทุน และที่ผ่านมาธนาคารดำรงฐานะเงินกองทุนในระดับสูงมาโดยตลอด
เมื่อรวมการซื้อคืนจากการทำ Tender Offer กับการซื้อคืนตราสารหนี้ AT1 ที่ได้ดำเนินการซื้อคืนมาบางส่วนจากตลาดรองในต่างประเทศ (Open Market Repurchase) ในช่วงก่อนหน้า จำนวนรวม 28,960,000 ดอลล่าร์สหรัฐ จะรวมเป็นมูลค่าตราสารหนี้ AT1 ที่ซื้อคืนทั้งสิ้น 154,333,000 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือ คิดเป็น 38.58% ของจำนวนเงินต้นรวมทั้งหมดของตราสารหนี้ AT1
ทั้งนี้ การทำธุรกรรมการซื้อคืนดังกล่าว ไม่มีผลต่อระดับเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ของธนาคาร และในเบื้องต้นประเมินว่าอัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) จะลดลงไม่เกิน 0.4% หรือ 40 basis point ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 อัตราส่วน CAR และอัตราส่วน Tier 1 อยู่ที่ 20.0% และ 16.0% ตามลำดับ การลดลงในระดับดังกล่าวจึงไม่มีผลกระทบต่อการดำรงเงินกองทุนตามเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% แต่อย่างใด
นายปิติ ตัณฑเกษม กล่าวสรุปว่า “ภายใต้วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ธนาคารให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการบริหารต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเพื่อรองรับแนวโน้มดอกเบี้ยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทยอยเพิ่มสัดส่วนเงินฝากประจำมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพื่อลดการแข่งขันด้านเงินฝากและช่วยในการบริหารต้นทุนทางการเงินเมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศเป็นขาขึ้น นอกจากนั้น ยังได้ปรับพอร์ตการลงทุนให้มีความยืดหยุ่นและมีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนการลงทุน เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากภาวะตลาดและทิศทางดอกเบี้ย นอกเหนือจากการดำเนินการเหล่านี้ ธนาคารก็มีแผนงานอื่น ๆ ที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหาเงินทุน ซึ่งมองว่าจะเป็นปัจจัยช่วยหนุนรายได้และบริหารค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยต่อไป”