ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญไม่ได้จำกัดแต่ในภาคการเกษตร แต่ส่งผลไปยังอุตสาหกรรมต้นน้ำสำคัญ คือ อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร ที่ประเมินว่าจะได้รับผลกระทบหนักยอดขายวูบในช่วง 2 ปีรวมกัน 1.42 – 1.53 แสนล้านบาท
ปี 2566 เกษตรกรไทยเผชิญอุปสรรคจากภาวะฝนน้อยลงและราคาพืชเกษตรในกลุ่มยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ลดลง ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรกลุ่ม 5 พืชหลัก ลดลง 3.9% หรืออยู่ที่ 8.26 แสนล้านบาท รวมถึงในปี 2567 สถานการณ์ภาคเกษตรยังน่ากังวลจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ลดลงจากภัยแล้งและภาวะฝนน้อย ที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตลดลงโดยเฉพาะในกลุ่มพืชต้องการน้ำมาก ส่งผลให้รายได้เกษตรกรกลุ่ม 5 พืชหลักหดตัวต่อเนื่องอีก 4.2% ทั้งนี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญยังส่งผลในรูปแบบของผลกระทบที่เกี่ยวข้อง (Domino Effect) โดยทาง ttb analytics ประเมินผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องผ่านการวิเคราะห์ด้วยตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Out Tables) พบว่า อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรได้รับผลกระทบสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำ (Backward Linkage) โดยมีรายละเอียดดังนี้
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรมีการขยายตัวสูง จากภาวะราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับเพิ่มสูงด้วยปัญหาฝั่งอุปทานจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และเป็นช่วงเวลาที่จีนยังไม่เปิดประเทศอย่างสมบูรณ์ รวมถึงต้นทุนการผลิตที่เร่งขึ้นตามราคาพลังงาน ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยปุ๋ยเคมีในปี 2565 ขยับเพิ่มขึ้นถึง 145% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้มูลค่าอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรในปี 2565 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.45 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 สถานการณ์ของอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร เริ่มได้รับแรงกดดันจากราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับตัวลงในช่วง 7 เดือนแรกกว่า 22% จากปัญหาอุปทานที่เริ่มคลายตัว แต่จากปริมาณการกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ยังเพียงพอสำหรับการชลประทานทางการเกษตรจากฝนที่ตกมากในปี 2565 ผลกระทบจากปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีจึงค่อนข้างจำกัด มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีและสารเคมีอาจปรับลดลงที่ 23% หรือลดลงเหลือ 2.66 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 คาดผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลกระทบต่อไปยังอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรซ้ำเป็นระลอกที่สองจากภาวะผลกระทบของราคาที่ถีบตัวสูงในปีก่อนหน้า ด้วยภาวะฝนน้อยและภัยแล้งที่ส่งผลให้เกษตรกรต้องวางแผนลดปริมาณเพาะปลูก เช่น ข้าวนาปรัง และการทำการเกษตรนอกเขตชลประทาน ส่งผลต่อปริมาณการใช้ปุ๋ยและสารเคมีที่ลดลงและราคาปุ๋ยเคมีที่อาจปรับลดลงอีกตามกลไกราคา ส่งผลให้คาดการณ์ตลาดของอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรในปี 2567 อาจหดตัว 24-28% เหลือ 1.92 – 2.04 แสนล้านบาท ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ที่อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรได้รับผลกระทบทางอ้อมที่ค่อนข้างรุนแรงทั้งในมิติของราคาและปริมาณที่ลดลง ttb analytics จึงแนะภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- กลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร ควรเร่งพิจารณาประเมินการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรที่อาจลดลงจากภาวะฝนแล้งเพื่อลดความเสี่ยงของราคาปุ๋ยที่เข้าสู่ขาลงเพื่อเลี่ยงการขาดทุนจากราคาสินค้าคงคลังที่ปรับลดตามราคาตลาด (Stock Loss) รวมถึงการพิจารณาการใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่น สัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อลดความผันผวนเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นสิ่งที่จัดการและคาดการณ์ได้ยากกว่าราคาวัตถุดิบ เป็นต้น
- กลุ่มผู้ค้าส่งปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร ควรประเมินสถานการณ์และตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ให้บริการของตน เพื่อจัดสินค้าให้หมาะสมกับปริมาณใช้จริงในพื้นที่การเกษตรในจุดให้บริการเพื่อลดเงินทุนที่ติดอยู่ในสินค้าคงคลัง รวมถึงในช่วงที่ราคาสินค้าเข้าสู่ขาลง การมีสินค้าคงคลังจำนวนมากและอัตราหมุนเวียนต่ำ อาจส่งผลต่อการขาดทุนจากราคาสินค้าคงคลังที่ปรับลดตามราคาตลาด (Stock Loss) ได้ นอกจากนี้ควรพิจารณาเรื่องเครดิตทางการค้าที่ให้กับผู้ค้ารายย่อย (Account Receivable) เนื่องจากผู้ค้าปุ๋ยรายย่อยบางส่วนมีการให้เครดิตปุ๋ยกับเกษตรกรและในช่วงภัยแล้งความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกรได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจส่งผลต่อการรับชำระหนี้ของผู้ค้าปุ๋ยรายย่อยและผู้ค้าส่งปุ๋ยได้ (Reverse Effect)
กล่าวโดยสรุป ปี 2567 คาดเป็นปีที่ไทยได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ลดทอนผลผลิตและรายได้ภาคเกษตร อย่างไรก็ดีผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญไม่จำกัดแค่ในภาคการเกษตร แต่ยังส่งผลกระทบสืบเนื่องไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร ที่มูลค่าตลาดหดตัวค่อนข้างมากตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น แล้วยังส่งผลสืบเนื่องไปยังอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ และกลุ่มร้านอาหารในเวลาเดียวกัน ซึ่งในโอกาสถัดไป ttb analytics จะทำการวิเคราะห์ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญในกลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำ เพื่อให้มิติของการวิเคราะห์ครอบคลุมและสามารถประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจภาพรวมได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น