external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

รายการลดหย่อนภาษี 2566 สรุป ครบ จบในที่เดียว

20 ต.ค. 2566

รายการลดหย่อนภาษี 2566

วนกลับมาอีกครั้งกับเทศกาลลดหย่อนภาษีปี 2566 สำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าเรามีการวางแผนภาษีล่วงหน้า อย่างการคำนวณดูว่าในปีนี้เราต้องเสียภาษีเท่าไหร่ แล้วหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีเตรียมไว้ อาทิ กองทุนลดหย่อนภาษี SSF / RMF ก็จะสามารถประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้หลักหมื่นถึงหลักแสนเลย แล้วในปีนี้จะมีรายการลดหย่อนภาษีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ทาง ttb advisory มีอัปเดตมาให้แบบครบ ๆ และนอกจากนี้ยังมีผู้ช่วยวางแผนภาษีอย่าง My Tax มาแนะนำกันอีกด้วย

ซึ่งการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2567 นั้น สามารถยื่นภาษีแบบเอกสารหรือกระดาษ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2567 หรือจะยื่นภาษีแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ก็ได้เช่นกัน ซึ่งจะขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 8 เม.ย. 2567


รายการลดหย่อนภาษีปี 2566 มีอะไรบ้าง ?

รายการลดหย่อนภาษีปี 2566 มีอะไรบ้าง ? ค่าลดหย่อน เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ให้สามารถนำไปหักออกจากเงินได้หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้วจะช่วยทำให้เราเสียภาษีน้อยลงหรืออาจจะไม่เสียภาษีเลยก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งรายการลดหย่อนภาษีจะมีการเปลี่ยนแปลงและอัปเดตทุก ๆ ปี โดยรายการลดหย่อนภาษีปี 2566 นี้แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้

รายการลดหย่อนภาษีปี 2566


กลุ่มลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

  1. ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  2. คู่สมรส (จดทะเบียนสมรส - ไม่มีรายได้) 60,000 บาท
  3. บุตร คนละ 30,000 บาท หากเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย สามารถหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ถ้าเป็นบุตรบุญธรรม สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • อายุไม่เกิน 20 ปี
    • ถ้าอายุ 21 - 25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
    • บุตรมีเงินได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี
      ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป จะสามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
  4. ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร หักลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
  5. ค่าดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 30,000 บาท โดยพ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และสามารถหักลดหย่อนสำหรับพ่อแม่ของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท
  6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท โดยผู้พิการต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวคนพิการ


กลุ่มประกันและการลงทุน

  1. ประกันสังคมสูงสุด 9,000 บาท
  2. เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ของเราและคู่สมรส ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  3. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิต (คุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป) ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  4. เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  5. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และอาจจะลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
    • จ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น
  6. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  7. กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี
    • ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก โดยนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุน คือ ปีใดไม่ลงทุนจะไม่นับว่ามีการลงทุนในปีนั้น
    • ขายได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  8. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ต้องถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ
    • ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อและไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
  9. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุด 30,000 บาท

ทั้งนี้ กองทุน RMF, กองทุน SSF, กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมด ต้องไม่เกิน 500,000 บาท


กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ

  1. ดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • เป็นดอกเบี้ยจากเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน คอนโดมิเนียม หรือที่อยู่อาศัย โดยเราต้องอาศัยในบ้านหลังนี้ด้วย
    • ต้องเป็นการกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่บนที่ดินของตัวเอง หรือกู้เพื่อซื้อคอนโดมิเนียม
    • ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ
    • หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถรวมกันได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
    • กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน
  2. เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) 100,000 บาท
  3. ช้อปดีมีคืน 40,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ซื้อสินค้าและบริการทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หนังสือ (รวมถึง e-book) และสินค้า OTOP ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว
    • มีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ลดหย่อนได้ 30,000 บาท
    • มีใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ ลดหย่อนเพิ่มได้อีก 10,000 บาท
    • ใช้สำหรับการซื้อสินค้าในช่วงวันที่ 1 ม.ค. - 15 ก.พ. 66


กลุ่มเงินบริจาค

  1. บริจาคพรรคการเมือง 10,000 บาท
  2. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา สนับสนุนกีฬา พัฒนาสังคมต่าง ๆ มูลนิธิด้านสาธารณสุข และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  3. เงินบริจาคอื่น ๆ มูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน


ตัวอย่างการคำนวณภาษี ด้วยการซื้อกองทุน SSF เพื่อประหยัดภาษี

นายฟินมีเงินเดือน 35,000 บาท รวมรายได้ทั้งปี 420,000 บาท ผ่อนบ้านอยู่ 1 หลัง และซื้อของที่เข้าร่วมโครงการช้อปดีมีคืน 30,000 บาท จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าไหร่ ?

ตัวอย่างการคำนวณภาษี ด้วยการซื้อกองทุน SSF เพื่อประหยัดภาษี

นายฟินมีเงินเดือน 35,000 บาท รวมรายได้ทั้งปี 420,000 บาท จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ค่าลดหย่อนประกันสังคม 9,000 บาท ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน 50,000 บาท (ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท) และค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืนอีก 30,000 บาท เมื่อคิดเงินได้สุทธิแล้วจะอยู่ที่ 171,000 บาท

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2466


การคำนวณภาษีจะเป็นการคิดคำนวณแบบขั้นบันได ซึ่งเงินได้สุทธิ 171,000 บาท จากข้อมูลอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2566 จะอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีฐาน 5% แต่เงินได้สุทธิ 0 – 150,000 บาทแรก จะได้รับการยกเว้นภาษี ทำให้จะคิดภาษีเพียงแค่ 21,000 บาท ดังนั้นนายฟินจะเสียภาษีอยู่ที่ 1,050 บาท

แต่หากนายฟินต้องการประหยัดภาษีก็สามารถหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ อย่างเช่น กองทุนลดหย่อนภาษี SSF จำนวน 21,000 บาท (ซึ่งสามารถซื้อ SSF ได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท) จะทำให้นายฟินมีเงินได้สุทธิเหลือเพียง 150,000 บาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ได้รับการยกเว้นภาษี (0 – 150,000 บาทแรก) หรือก็คือนายฟินจะไม่เสียภาษีเลยนั่นเอง และนอกจากการลงทุนในกองทุน SSF จะสามารถช่วยประหยัดภาษีแล้ว ยังสามารถสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้อีกด้วย

และสำหรับใครที่ต้องการหากองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี SSF / RMF ทาง ttb advisory ก็มีทางเลือกกองทุนที่หลากหลายให้เลือกสรรมากมาย สามารถเลือกตามระดับตามความเสี่ยงที่รับได้ที่ https://www.ttbbank.com/th/personal/investment/mutual-funds และนอกจากนี้ ยังสามารถทดลองวางแผนการลงทุนตามเป้าหมายพร้อมลดหย่อนภาษีได้ ทาง ttb calculator และลงทุนผ่าน ttb smart port – SSF ที่มีผู้เชี่ยวชาญที่คอยดูแลบริหารจัดการพอร์ตให้อีกด้วย ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ttbbank.com/tsp

หากสนใจเปิดบัญชีกองทุน และลงทุนผ่านแอป ttb touch สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ttb investment line หรือโทร. 1428 กด #4 ทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 9:00 น. – 17:30 น. (ยกเว้นวันหยุดธนาคาร)


เปลี่ยนภาษีให้เป็นเรื่องง่าย กับ My Tax

ฟีเจอร์ใหม่ My Tax บนแอป ttb touch ผู้ช่วยจัดการภาษีแบบครบวงจร ที่มาพร้อมฟีเจอร์ครบครันด้านภาษี ช่วยให้คุณวางแผนเพื่อประหยัดภาษีได้ล่วงหน้า สะดวก ใช้งานก็ง่าย แถมไม่ต้องยุ่งยากกับเอกสารอีกด้วย

เปลี่ยนภาษีให้เป็นเรื่องง่าย กับ My Tax

1. ดึงข้อมูลอัตโนมัติจาก ttb
สะดวกยิ่งกว่า สำหรับลูกค้า ทีทีบี เพียง log-in เข้าแอป ttb touch คลิกที่ฟีเจอร์ My Tax ระบบจะนำข้อมูลเงินได้และค่าลดหย่อนล่าสุดของคุณจากฐานข้อมูลที่มีอยู่กับ ทีทีบี มาใช้ตั้งต้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการคำนวณภาษีให้อัตโนมัติ


2. วางแผนภาษีและตั้งเป้าหมาย
ช่วยเรื่องการวางแผนประหยัดภาษีล่วงหน้า และตั้งเป้าหมายที่คุณต้องการเพื่อไม่ให้ลืม และพลาดโอกาสลดหย่อนภาษี เพราะรู้ได้ทันทีว่าลดหย่อนภาษีด้วยอะไรได้บ้าง ทั้งประกัน กองทุน รวมถึงบริจาค และยังช่วยคำนวณสิทธิ์ลดหย่อนสูงสุดตามสิทธิ์ของคุณให้ทันที จะได้บริหารจัดการเงินเพื่อทยอยลดหย่อนได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องรอซื้อทีเดียวแค่ตอนปลายปี


3. แนะนำผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษี
ช่วยแนะนำตัวเลือกลดหย่อนภาษีที่เหมาะกับแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นกองทุน SSF หรือ RMF ตามความเสี่ยงที่รับได้ หรือประกันที่เหมาะสม รวมถึงสามารถบริจาคเพื่อลดหย่อนภาษีได้ครบ จบ ในที่เดียวบน My Tax เพื่อให้คุณไม่พลาดทุกรายการลดหย่อนภาษี อีกทั้งยังช่วยบันทึกข้อมูลการซื้อผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษีให้อัตโนมัติอีกด้วย


4. แฟ้มจัดเก็บเอกสาร
My Tax มอบพื้นที่จัดเก็บเอกสารภาษีไว้ให้คุณใช้งานฟรี เป็นเหมือนแฟ้มสำหรับรวบรวมเอกสารเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบ ไม่ต้องยุ่งยากในการค้นหา หมดกังวลเรื่องเอกสารหาย


โปรโมชันกองทุนลดหย่อนภาษีปี 2566

ซื้อหรือสับเปลี่ยนเข้ากองทุน RMF/ SSF ของ บลจ. 5 แห่ง ที่เข้าร่วมโปรโมชัน หรือโอนกองทุน LTF จาก บลจ. อื่นเข้ากองทุน LTF ของ บลจ. 4 แห่ง ที่เข้าร่วมโปรโมชัน (ยกเว้น ONEAM) ทุก ๆ 50,000 บาท ของการลงทุนในแต่ละ บลจ. จะได้รับเงินลงทุนเพิ่มในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) จำนวน 100 บาท (ตามเงื่อนไขของ บลจ. ที่ได้ลงทุน) ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 29 ธันวาคม 2566 ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ttbbank.com/th/promotion/detail/rmf-ssf-2023


โปรโมชันพิเศษ ! เพิ่มโอกาสมั่งคั่ง ด้วย DCA กับกองทุน ttb smart port

รับหน่วยลงทุนพิเศษเพิ่มอีก 0.2% ของเงินลงทุนแบบตั้งแผนการลงทุนอัตโนมัติรายเดือนในกองทุน ttb smart port เมื่อลงทุนขั้นต่ำเดือนละ 1,000 บาท ขึ้นไป ติดต่อกัน 12 เดือน โดยเริ่มตั้งแผนการลงทุนอัตโนมัติรายเดือน ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 – 29 ธันวาคม 2566ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ttbbank.com/th/promotion/detail/tspdca2023


คำเตือน :
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า นโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานกองทุนก่อนตัดสินใจลงทุน / กองทุนนี้ลงทุนในต่างประเทศ จึงมีความเสี่ยงที่ทางการของต่างประเทศอาจออกมาตรการในภาวะที่เกิดวิกฤตการณ์ที่ไม่ปกติ ทำให้กองทุนไม่สามารถนำเงินกลับเข้ามาในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับคืนเงินตามระยะเวลาที่กำหนด / กองทุนนี้มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในต่างประเทศ ถึงแม้ว่ากองทุนอาจป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนรวม แต่เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ /กองทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดเงื่อนไขการลงทุนให้ครบถ้วน / สอบถามข้อมูล และขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ ttb ทุกสาขา หรือที่ ttb investment line โทร 1428 กด # 4 ทุกวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 9:00 - 17:30 น. (ยกเว้นวันหยุดธนาคาร)

หมายเหตุ :
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุด ที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด รายงานฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอหรือคำชี้ชวนให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ และจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเท่านั้น ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือเป็นผลจากการใช้เนื้อหาหรือรายงานฉบับนี้ การนำไปใช้ซึ่งข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมาย ทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ที่มา : www.rd.go.th